แหล่งท่องเที่ยว » “เก็บเห็ดป่า” กินอยู่กับธรรมชาติ วิถีชิวิตคนอีสานที่ไม่เคยจางหายไปกับกาลเวลา

“เก็บเห็ดป่า” กินอยู่กับธรรมชาติ วิถีชิวิตคนอีสานที่ไม่เคยจางหายไปกับกาลเวลา

28 สิงหาคม 2012
43232   0

สวัสดีครับ วันนี้ Nakhu.com ขอนำทุกท่านเข้าไปเปิดประสบการณ์ใหม่อีกประเภทหนึ่ง นั่นคือการเก็บเห็ดป่า สถานที่ที่เราไปเก็บเห็ดในวันนี้คือโคกบ้านม่วง อ.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์ สนุกมากครับ ได้เห็ดหลายประเภทเลย ได้รู้ที่มาที่ไปของเห็ด ได้เรียนรู้้ชนิดของเห็ด ลักษณะการงอกของเห็ดจริงๆ ได้เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ชวนกันออกไปหาเห็ดเป็นหมู่คณะ ชวนกันไปไม่ปิดไม่บังกัน สังคมชนบทที่มีการแบ่งปัน ไม่แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นเหมือนในสังคมเมือง ก็สนุกไปอีกแบบ โดยเฉพาะตอนเดินแล้วใช้ไม้เขี่ยหาตามพงหญ้าแล้วก็ลุ้นว่าจะเจอเห็ดไหม ถ้าไม่ได้มาด้วยตัวเอง ก็คงไม่รู้ครับ

 

สำหรับท่านที่ทำงานไกลบ้านได้ดูคลิป+รูปภาพแล้วคงคิดถึงบ้านไม่น้อย เรายินดีเป็นสื่อกลางในการคลายความคิดถึงบ้านของทุกท่านครับ เพียงแวะเข้ามาชมและให้กำลังใจบ่อยๆก็พอแล้วครับ อิอิ
 

เห็ดที่ได้ในป่านี้มีประมาณนี้ครับ

1.สุดยอดของเห็ดที่นับได้ว่าหากยาก และอร่อยที่สุด ต้องยกให้ เห็ดไค พื้นที่อื่นๆ อาจมีชื่อเรียกต่างกันออกไปลักษณะของเห็ดไค  เป็นเห็ดที่มีสีขาว บางทีก็มีสีเขียวแซมๆ บ้างเหมือนกัน  ดอกใหญ่และแข็ง มีกลิ่นหอม โดยเฉพาะเวลาย่างไฟจะมีกลิ่นหอมเป็นพิเศษ  นิยมนำมาทำแกง และน้ำพริก (แจ่วเห็ดไค) ปัจจุบันขายกิโลกรัมละ 250 บาท

2.เห็ดละโงกขาว  ที่อยู่ในรูปจะเป็นเหมือนไข่ จะมีลักษณะเป็นสีขาว  เมื่อตอนเล็กๆ ที่ยังอยู่ในดิน เห็ดชนิดนี้จะมีลักษณะเหมือนไข่ห่าน  บางพื้นที่เรียกเห็ดไข่ห่าน  แต่ทางอีสานเรียกเห็ดละโงกขาว  จากนั้นเมื่อมันเริ่มโต จะมีดอกเห็ดโผล่ออกมาจากไข่ แล้วค่อยๆ โต และบานเต็มที่

3.เห็ดข่า   มีลักษณะสีขาวเหมือนเห็ดไค  แต่เห็ดข่ามีรสเผ็ด+ขมเหมือนข่า ส่วนมากไม่นิยมรับประทาน แต่ก็ใ่ช่ว่าจะทานไม่ได้  บางคนก็บอกว่าอร่อย  บางคนก็บอกว่าไม่อร่อย แล้วแต่คนชอบครับ  สิ่งที่แตกต่างและสังเกตได้ชัดก็คือ ให้ลองหักกลีบดอกของเห็ดชนิดนี้ดูครับ จะมียางสีขาวไหลออกมา ใช่เลย มันคือเห็ดข่า

4.เห็ดน้ำหมาก  เป็นเห็ดที่มีผิวด้านบนของดอกสีแดง แต่ด้านล่างของครีบเห็ดจะมีสีขาว  มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ไม่มีเปลือกหุ้ม ไม่มีวงแหวน  เวลาแกงเห็ดชนิดนี้ น้ำแกงจะมีสีแดงนะครับ แต่ไม่เป็นอันตราย รับประทานได้  นิยมนำมาทำแกงเลียง หรือแกงสไตล์อิสาน

5.เห็ดก่อ  มีลักษณะดอกแข็ง สีแดง หรือสีแดงอมม่วง  คล้ายเห็ดไค  แตกต่างกันที่สีและกลิ่นเท่านั้น  กลิ่นของเห็ดก่อจะไม่หอมเหมือนเห็ดไค  แต่เวลานำมาย่างตำน้ำพริก รสชาติอร่อยไม่แตกต่างกันครับ  เห็ดชนิดนี้มักจะเกิดในป่าที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ และรกทึบพอสมควร  เรียกว่าไม่เกิดให้เราได้กินง่ายๆ    นิยมนำมาทำแกง  เพราะมีรสหวาน  และตำน้ำพริกก็ได้

6.เห็ดที่ออกช่วงหน้าฝนแบบนี้ ทางบ้านผมเรียกว่า เห็ดหน้าแหล่ คำว่า แหล่ หมายถึง สีม่วง  เห็ดชนิดนี้จะมีสีม่วงอ่อนๆ ที่ดอกเห็ด แต่ด้านล่างใต้ดอกเห็ด จะมีสีขาว  เห็ดชนิดนี้มีกลิ่นหอมอ่อนๆ นิยมนำมาทำแกงเห็ด  หรือหากใครมีเมนูอื่นๆ เช่น ใส่ในต้มยำ หรือนึ่งจิ้มแจ่ว ก็ทำได้เช่นกัน อร่อยอย่าบอกใคร

7.เห็ดอีกชนิดหนึ่ง ที่ออกในช่วงนี้คือ เห็ดหน้าวัว เป็นเห็ดที่มีลักษณะดอกน้ำตาลอมเหลือง  ดอกเห็ดมีความเหนียวลื่น  เวลาแกงมีรสเผ็ดและขื่นเล็กน้อย  สมัยก่อนที่เห็ดมีหลากหลายชนิดจะไม่นิยมนำเห็ดชนิดมาทานสักเท่าไหร่ แต่ปัจจุบันเก็บหมดไม่มีเหลือ  ที่มาของคำว่า เห็ดหน้าวัว ยังไม่มีใครอธิบายได้ครับ

8.เห็ดอีกชนิดหนึ่งที่ควรรู้จักและสามารถนำมารับประทานได้ ก็คือ เห็ดถ่าน  คำว่าเห็ดถ่านไม่ใช่เห็ดที่เกิดจากถ่านแต่เป็นเห็ดที่มีลักษณะดอกสีขาว ครีบด้านล่างสีขาว  เพียงแต่เวลาโดนมือของเราสัมผัสสีขาวเหล่านั้นจะเปลี่ยนเป็นสีดำเหมือนถ่านทันที  ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษและเป็นที่มาของชื่อเห็ดชนิดนี้  แม้กระทั่งเวลาแกงหรือปรุงอาหารเสร็จ เห็ดชนิดนี้ก็ยังคงเป็นสีดำเหมือนถ่านเช่นกัน  รสชาติของเห็ดถ่านก็เหมือนกับเห็ดดิน เห็ดหน้าแหล่ คือ มีรสหวาน กลิ่นหอมอ่อนๆ ไม่มีรสเผ็ดหรือขื่นแต่อย่างใด

9.เห็ดผึ้ง หรือ เห็ดเผิ่ง  ที่มาของชื่อนี้น่าจะมาจากลักษณะครีบด้านล่างของเห็ด ซึ่งไม่ใช่ครีบแต่มันเหมือนฟองน้ำ และมีรูเล็กๆ เหมือนรังผึ้ง  จึงเป็นที่มาของชื่อเห็ดผึ้ง  คำว่า เผิ่ง เป็นภาษาอีสาน หมายถึง ตัวผึ้ง  ภาพนี้คือเห็ดผึ้งหวานขานกยูง  ดอกเห็ดจะมีสีน้ำตาลอมแดง แต่ด้านล่างจะมีสีเหลืองอ่อน สวยงามมาก

10.เห็ดครก มีสีขาว ดอกเล็ก ใบเห็ดจะมีลักษณะเป็นหลุมตรงกลาง คล้ายครก

เป็นอย่างไรบ้างครับ สำหรับทริปการเก็บเห็ด หวังว่าคงจะทำให้บางท่านยิ้มได้บ้างนะครับ.

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

www.nakhu.com แหล่งชุมนุมของคนชอบเที่ยว โดยรูปภาพและบทความที่จัดทำขึ้นทั้งหมดในเว็บไซต์ขอสงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย ห้ามผู้ใดทำซ้ำหรือเผยแพร่เชิงพาณิชย์ในทุกสื่อ ไม่ว่าจะเป็นบางส่วนหรือทั้งหมดโดยไม่ได้รับอนุญาต