สุขภาพ » โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder)หรืออาการคนสองบุคลิก

โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder)หรืออาการคนสองบุคลิก

25 กันยายน 2012
3863   0

ขณะที่เกิดคดีสะเทือนขวัญในสังคมไทยขณะนี้นั่นก็คือคดีการหายตัวไปของ 2 สามีภรรยาชาวเพชรบุรี แล้วมีความเชื่อมโยงกับ  พ.ต.อ.นพ.สุพัฒน์ เลาหะวัฒนะ แพทย์ประจำ รพ.ตำรวจ ซึ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยเกี่ยวกับการหายตัวไปของ 2 สามีภรรยา ชาวเพชรบุรี 

นพ.สุพัฒน์

นพ.สุพัฒน์

แต่ประเด็นที่ผมขอนำเสนอในบทความนี้คือ ภาวะอารมณ์สองขั้วหรืออาการคนสองบุคลิก ซึ่งได้ข้อมมูลจากพี่ชายหมอสุพัฒน์ว่าคุณหมอเองมีภาวะแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก โดยอยู่กับคนหมู่มากจะสุภาพเรียบร้อยมากเป็นเหมือนคนปกติทั่วไป แต่พอได้อยู่กับคนที่ด้อยกว่าหรือโดนขัดใจกลับแสดงความก้าวร้าวอย่างเห็นได้ชัด(จากการให้ข้อมูลของพี่ชายหมอสุพัฒน์)

 

ผมจึงได้ไปค้นคว้าข้อมูลว่า ไอ้โรคคน 2 บุคลิกนี่เป็นอย่างไร เพราะสมัยเรียนก็เรียนแบบจำได้บ้างไม่ได้บ้าง(แฮะๆแอบหลับซะมากกว่า) แต่ถ้าใครเป็นแล้วน่าจะเกิดอันตรายกับคนในสังคมมากนะครับ อย่างเหมือนในหนังฝรั่งที่เป็นฆาตรกรต่อเนื่อง ต่อหน้าดูดี ลับหลังโคตรโหด.

 

เข้าเรื่องกันดีกว่าครับ 

โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder)หรืออาการคนสองบุคลิก ชื่อภาษาไทยของโรคนี้ชื่ออาจฟังไม่คุ้นเท่าไหร่ แต่ถ้าได้อ่านจบแล้ว ก็จะเห็นว่าลักษณะของโรคนี้เป็นแบบนั้นจริงๆ หรือหากมีใครอยากจะเสนอชื่อใหม่ที่คิดว่าน่าจะโดนกว่านี้ก็ยินดีนะครับ แต่ผมตั้งให้ว่า “โรคเสือซ่อนเขี้ยว”

 โรคอารมณ์สองขั้วเป็นความผิดปกติทางอารมณ์ ผู้ที่เป็นจะมีอารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน 2 แบบ แบบแรกมีลักษณะอารมณ์และพฤติกรรมออกเป็นแบบซึมเศร้า แบบที่สองมีลักษณะคึกคักพลุ่งพล่าน  ซึ่งเรียกว่าเมเนีย (mania)

โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder)

โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder)

    จากภาพจะเห็นว่าผู้ที่เป็นจะอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปจากปกติเป็นช่วงๆ โดยเป็นแบบซึมเศร้าตามด้วยช่วงเวลาที่เป็นปกติดี จากนั้นอีกเป็นปีอาจเกิดอาการแบบเมเนียขึ้นมา บางคนอาจเริ่มต้นด้วยอาการแบบเมเนียก่อนก็ได้ และไม่จำเป็นต้องตามด้วยอาการด้านตรงข้ามเสมอไป เช่น อาจมีอาการแบบ ซึมเศร้า – ปกติ – ซึมเศร้า – เมเนีย

โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder)

โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder)

เขามีอาการอย่างไร 

              ผู้ที่เป็นจะมีอาการแสดงออกมาทั้งในด้านอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม โดยในแต่ละระยะจะมีอาการนานหลายสัปดาห์ จนอาจถึงหลายเดือนหากไม่ได้รับการรักษา

           ในระยะซึมเศร้า ผู้ที่เป็นจะรู้สึกเบื่อหน่ายไปหมด จากเดิมชอบอ่านหนังสือพิมพ์ ติดละคร หรือดูข่าว ก็ไม่สนใจติดตาม อะไรๆ ก็ไม่เพลินใจไปหมด คุณยายบางคนหลานๆ มาเยี่ยมจากต่างจังหวัดแทนที่จะดีใจกลับรู้สึกเฉยๆ   บางคนจะมีอาการซึมเศร้า อารมณ์อ่อนไหวง่าย ร้องไห้เป็นว่าเล่น  บางคนจะหงุดหงิด ขวางหูขวางตาไปหมด ทนเสียงดังไม่ได้ ไม่อยากให้ใครมาวุ่นวาย อาการเบื่อเป็นมากจนแม้แต่อาหารการกินก็ไม่สนใจ บางคนน้ำหนักลดฮวบฮาบสัปดาห์ละ 2-3กก.ก็มี  เขาจะนั่งอยู่เฉยๆ ได้เป็นชั่วโมงๆ  ความจำก็แย่ลง มักหลงๆ ลืมๆ เพราะใจลอย ตัดสินใจอะไรก็ไม่ได้ เพราะไม่มั่นใจไปเสียหมด เขาจะมองสิ่งต่างๆ ในแง่ลบไปหมด คิดว่าตัวเองเป็นภาระของคนอื่น ไม่มีใครสนใจตนเอง ถ้าตายไปคงจะดีจะพ้นทุกข์เสียที  หากญาติหรือคนใกล้ชิดเห็นเขามีท่าทีบ่นไม่รู้จะอยู่ไปทำไม หรือพูดทำนองฝากฝัง สั่งเสีย อย่ามองข้ามหรือต่อว่าเขาว่าอย่าคิดมาก แต่ให้สนใจพยายามพูดคุยกับเขา รับฟังสิ่งที่เขาเล่าให้มากๆ ถ้ารู้สึกไม่เข้าใจหรือมองแล้วไม่ค่อยดี ขอแนะนำให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อรักษาโดยเร็ว

           ในทางตรงกันข้าม ในระยะเมเนีย เขาจะมีอาการเปลี่ยนไปอีกขั้วหนึ่งเลย เขาจะมั่นใจตัวเองมาก รู้สึกว่าตัวเองเก่ง ความคิดไอเดียต่างๆ แล่นกระฉูด เวลาคิดอะไรจะมองข้ามไป 2-3 ช็อตจนคนตามไม่ทัน การพูดจาจะลื่นไหลพูดเก่ง คล่องแคล่ว มนุษยสัมพันธ์ดี เรียกว่าเจอใครก็เข้าไปทักไปคุย เห็นใครก็อยากจะช่วย  ช่วงนี้เขาจะหน้าใหญ่ใจโต ใช้จ่ายเกินตัว ถ้าเป็นคุณตาคุณยายก็บริจาคเงินเข้าวัดจนลูกหลานระอา ถ้าเป็นเจ้าของบริษัทก็จัดงานเลี้ยง แจกโบนัส มีโครงการโปรเจคต่างๆ มากมาย   พลังของเขาจะมีเหลือเฟือ นอนดึกเพราะมีเรื่องให้ทำเยอะแยะไปหมด ตีสี่ก็ตื่นแล้ว ตื่นมาก็ทำโน่นทำนี่เลย ด้วยความที่เขาสนใจสิ่งต่างๆ มากมาย จึงทำให้เขาวอกแวกมาก ไม่สามารถอดทนทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นานๆ เขาทำงานเยอะ แต่ก็ไม่เสร็จเป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง ความยับยั้งชั่งใจตนเองมีน้อยมากเรียกว่าพอนึกอยากจะทำอะไรต้องทำทันที หากมีใครมาห้ามจะโกรธรุนแรง  อาการในระยะนี้หากเป็นมากๆ จะพูดไม่หยุด เสียงดัง เอาแต่ใจตัวเอง โกรธรุนแรงถึงขั้นอาละวาดถ้ามีคนขัดขวาง

 อาการระยะซึมเศร้าจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป มักเป็นหลังมีเรื่องกระทบกระเทือนใจ เช่น สอบตก เปลี่ยนงาน มีปัญหาครอบครัว แต่จะต่างจากปกติคือเขาจะเศร้าไม่เลิก งานการทำไม่ได้ ขาดงานบ่อยๆ มักเป็นนานเป็นเดือนๆ

 อาการระยะเมเนียมักเกิดขึ้นเร็ว และเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนภายใน 2-3 สัปดาห์อาการจะเต็มที่อารมณ์รุนแรง ก้าวร้าวจนญาติจะรับไม่ไหวต้องพามาโรงพยาบาล อาการในครั้งแรกๆ จะเกิดหลังมีเรื่องกดดัน แต่หากเป็นหลายๆ ครั้งก็มักเป็นขึ้นมาเองโดยที่ไม่มีปัญหาอะไรมากระตุ้นเลย

 ข้อสังเกตประการหนึ่งคือคนที่อยู่ในระยะเมเนียจะไม่คิดว่าตัวเองผิดปกติ มองว่าช่วงนี้ตัวเองอารมณ์ดีหรือใครๆ ก็ขยันกันได้  ในขณะที่หากเป็นระยะซึมเศร้าคนที่เป็นจะพอบอกได้ว่าตนเองเปลี่ยนไปจากเดิม

           ในระยะซึมเศร้าหากคนใกล้ชิดสนใจมักสังเกตไม่ยากเพราะเขาจะซึมลงดูอมทุกข์  แต่อาการแบบเมเนียจะบอกยากโดยเฉพาะในระยะแรกๆ ที่อาการยังไม่มาก เพราะดูเหมือนเขาจะเป็นแค่คนขยันอารมณ์ดีเท่านั้นเอง แต่ถ้าสังเกตจริงๆ ก็จะเห็นว่าลักษณะแบบนี้ไม่ใช่ตัวตนของเขา เขาจะดู เวอร์ กว่าปกติไปมาก 

โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder)

โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder)

 การวินิจฉัย              ไม่มีการตรวจพิเศษเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคนี้ ข้อมูลหลักในการวินิจฉัยคือ การซักประวัติอาการ ความเป็นไปของโรค ความเจ็บป่วยทางจิตในญาติ  การใช้ยาและสารต่างๆ  หรือโรคประจำตัว เพราะยาบางขนานหรือโรคทางร่างกายบางโรคอาจมีอาการทางจิตเหมือนกับโรคอารมณ์สองขั้วได้  แพทย์จะนำข้อมูลได้จากผู้ที่เป็นและญาติ ร่วมไปกับการตรวจร่างกายและตรวจสภาพจิตมาประมวลกันเพื่อการวินิจฉัย โรคนี้เป็นกันบ่อยไหม           พบว่าคนเรามีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ประมาณร้อยละ 1   หญิงและชายพบได้พอๆ กัน   มักพบมีอาการครั้งแรกระหว่างอายุ 15-24 ปี แล้วโรคอารมณ์สองขั้วเกิดจากอะไรล่ะ 

       โรคอารมณ์สองขั้วไม่ได้เป็นจากเขามีจิตใจอ่อนแอหรือคิดมากอย่างที่คนอื่นมักมองกัน  แต่เป็นจากความผิดปกติทางสมอง  พบว่าผู้ที่เป็นโรคนี้มีการทำงานของสมองและสารเคมีในสมองซึ่งทำหน้าที่สื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทแปรปรวนไป

 ผู้ที่เป็นโรคอารมณ์สองขั้วมักมีประวัติญาติป่วยเป็นโรคทางอารมณ์   ลูกของเขามีโอกาสเกิดโรคนี้มากกว่าคนทั่วไปประมาณ 8 เท่า   สิ่งที่ถ่ายทอดเป็นความเสี่ยงต่อการเกิดโรค เมื่อผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นเหล่านี้พบเหตุกดดันทางจิตใจ เช่น ตกงาน ญาติเสียชีวิต  หรือมีการเสพยาใช้สารต่างๆ  ก็จะไปกระตุ้นให้แนวโน้มการเกิดโรคที่แฝงเร้นอยู่นี้สำแดงอาการออกมา

ส่วนการรักษาก็คงต้องมอบทางให้แพทย์เปนผู้ดูแลแล้วกันนะครับ

 ว่าแต่เพื่อนๆล่ะครับมีอาการแบบนี้หรือมีคนรู้จักที่เป็นแบบนี้บ้างหรือเปล่า??

ขอบคุณข้อมูลจาก รศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล   ภาพประกอบจาก dek-d.com

 

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

www.nakhu.com แหล่งชุมนุมของคนชอบเที่ยว โดยรูปภาพและบทความที่จัดทำขึ้นทั้งหมดในเว็บไซต์ขอสงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย ห้ามผู้ใดทำซ้ำหรือเผยแพร่เชิงพาณิชย์ในทุกสื่อ ไม่ว่าจะเป็นบางส่วนหรือทั้งหมดโดยไม่ได้รับอนุญาต